เบื้องหลังของนวัตกรรมที่ดี คือความกลมกล่อมของไอเดียและการตอบโจทย์ลูกค้า

HIGHLIGHTS

  • นวัตกรรมที่ดี คือความลงตัวของไอเดียที่ทำได้จริง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และ ขายได้
  • สร้างความสมดุลให้นวัตกรรม นักวิจัยต้องหาโซลูชั่นให้พอดีกับความต้องการลูกค้า
  • เปิดโอกาส test and learn ให้นักวิจัยสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองธุรกิจได้

หากพูดถึงการคิดค้นนวัตกรรม เราอาจจะนึกถึงการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดใด ๆ แต่ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจนั้น ความสดใหม่ของไอเดียแค่อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ยังมีอีกหลากหลายความท้าทายที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพึงพอใจของลูกค้า การนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ต้นทุน เพื่อให้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาสามารถตอบสนองธุรกิจได้

นวัตกรรมที่ดีต้อง “ตอบสนองความต้องการของลูกค้า” และ “ขายได้”

ในมุมมองของทีมนักวิจัยจากเอสซีจี แพคเกจจิ้ง “นวัตกรรมที่ดี” คือความลงตัวของไอเดียสุดขั้วและการทำได้จริง แนวคิดของนวัตกรรมต้องน่าสนใจ ใช้งานได้จริง ตอบสนองความต้องการลูกค้า และสร้างประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้

“นวัตกรรม คือสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่า (value) เราไม่ต้องการสิ่งประดิษฐ์ที่สดใหม่แต่ไม่มีคุณค่าต่อใคร เราต้องการส่งมอบนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อลูกค้า เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง”

ทีมนักวิจัยเล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งหน้าที่ของนักวิจัยของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง คือ การเปิดใจลูกค้าให้เข้าใจถึงประโยชน์ของนวัตกรรมที่ทีมคิดค้นขึ้นมาและยอมรับคุณค่าของนวัตกรรมชิ้นนั้น ๆ ว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจหรือการใช้งานของลูกค้าได้ ในแง่นี้ คุณสมโชค ลิ่มวงศ์เสรี Senior Researcher, SCG Packaging แชร์ประสบการณ์ให้เราฟังว่า

“ของบางอย่าง ลูกค้าอาจไม่รู้จักมาก่อน ไม่รู้ว่าดีอย่างไร จะสามารถช่วยธุรกิจของตัวเองได้ในรูปแบบไหน นักวิจัยมีหน้าที่อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ การสื่อสารที่มีการผสมผสานความรู้ และความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้า จะนำพาให้นวัตกรรมที่คิดขึ้นมาถูกนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้จริง”

คุณสมโชค ลิ่มวงศ์เสรี  Senior Researcher, SCG Packaging

นอกจากนี้ความท้าทายสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในยุคปัจจุบัน คือการต้องคิดนวัตกรรมในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที คุณสมโชคบอกว่านักวิจัยต้องศึกษาและติดตามเทรนด์ตลาด เพื่อที่จะสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ นักวิจัยยังต้องก้าวให้ทันเทรนด์ของโลกอยู่เสมอ คาดการณ์ล่วงหน้าว่าความต้องการผลิตภัณฑ์กำลังไปในทิศทางใด เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ทันกับความต้องการใช้งาน


ดร.วัชรา อนันต์นฤการ  Senior Researcher, SCG Packaging

ดร.วัชรา อนันต์นฤการ  Senior Researcher, SCG Packaging เล่าประสบการณ์ในการคิดค้นนวัตกรรมให้เราฟังว่า โดยปกติแล้วเวลาที่ลูกค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง ๆ ลูกค้ามักจะบอกความต้องการทุกอย่างของตัวเอง นักวิจัยจะต้องใช้วิธีการทำงานแบบ Co-creation เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน แสดงความคิดเห็น เรียนรู้ และคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้นักวิจัยนำความต้องการทั้งหมดของลูกค้ามาคิดให้รอบด้าน ทั้งด้านคุณสมบัติของสินค้า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและการบรรจุ รวมทั้งต้นทุนในการขายและราคาขายที่ลูกค้าตั้งไว้ หากเราละเลยในการหาจุดสมดุลของความต้องการ นวัตกรรมที่คิดขึ้นมาก็จะหมดคุณค่า เพราะเป็นการส่งมอบที่เกินและขาดไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น ความพอเหมาะ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตนวัตกรรมหนึ่ง ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองธุรกิจ


คุณพรรณราย รุ่งศิริวัฒนา Researcher, SCG Packaging

อีกมุมมองหนึ่งจากคุณพรรณราย รุ่งศิริวัฒนา Researcher, SCG Packaging เล่าว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer-centricity) หากเน้นความสุดขั้วเพื่อให้ได้ฟังก์ชันการใช้งานสูงสุดในทุกด้าน อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าในด้านราคาและการผลิตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงได้ ดังนั้น การผลิตนวัตกรรมชิ้นหนึ่ง จึงเกิดจากการหาจุดสมดุลระหว่าง “ไอเดียสุดขั้ว” และ “การใช้งานได้จริง” โดยคำนึงถึงความพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ

“ทีมนักวิจัยเรียนรู้เรื่องนี้จากการทำนวัตกรรม FybroZeal™” (นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติผ่านการเคลือบผิว ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ) ตัวอย่างกระดาษที่ผลิตออกมารอบแรกพรีเมียมมาก ผิวกระดาษสวยและมีสัมผัสที่ลื่นมือ มีฟังก์ชันสูงสุดในทุกด้าน แต่เมื่อดูปัจจัยทั้งหมดในภาพรวมแล้ว สินค้าไม่สามารถตอบโจทย์ในด้านราคาได้ เราก็ต้องมาวิจัยใหม่ เพื่อหาจุดที่ลงตัวในเรื่องการใช้งานและกับความต้องการด้านต้นทุนของลูกค้า ก็เป็นธรรมดาของการพัฒนา Prototype ที่อาจจะมีหลากหลายชิ้นงาน ที่สำคัญคือ เราสามารถพัฒนาในสิ่งที่ดีที่สุดมาสู่สิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้าของเราได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนานวัตกรรมต้องตามให้ทันเทรนด์ของโลกและความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของลูกค้า ธุรกิจจึงต้องมีวัฒนธรรมที่เปิดรับการลองผิดลองถูก (test and learn) เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยมีพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมที่จะสามารถตอบสนองธุรกิจได้อย่างแท้จริง

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 3.3 / 5. Vote count: 4

No votes so far! Be the first to rate this post.