Digital Innovation นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อทุกธุรกิจ

ในโลกยุคปัจจุบันนี้ เราต่างได้ยินคำว่า เทคโนโลยี ดิจิทัล ออนไลน์ และนวัตกรรมอยู่บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเก็บข้อมูล หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่หลายคนก็ยังไม่คุ้นเคยกับการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้กับการทำงานในเชิงอุตสาหกรรม All Around Plastics ฉบับนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมดิจิทัลที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในแง่มุมธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น

คุณมงคล เฮงโรจนโสภณ Vice President – Olefins Business and Operations หนึ่งในผู้นำของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี อธิบายแนวคิดของ Digital Innovation หรือนวัตกรรมดิจิทัลให้เข้าใจง่าย ๆ ไว้ว่าเป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานโดยอาศัยเทคโนโลยีสองส่วนหลักอย่าง IT และ OT มาทำงานร่วมกัน โดย IT หรือ Information Technology เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลนับแสนนับล้านให้เป็นระบบ นำมาผสมผสานกับ OT หรือ Operation Technology ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ หรือโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อมาจัดการ วิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นให้สามารถแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ และพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

นวัตกรรมดิจิทัล จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่การคิดค้นสินค้าขึ้นมาใหม่ หรือสร้างสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลก แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับข้อมูล พัฒนามาเป็นนวัตกรรมการจัดการรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้

เป้าหมายแรกในการนำเอาเรื่องดิจิทัลมาใช้ในการจัดการโรงงานของเอสซีจี คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท จากเมื่อก่อนที่อุตสาหกรรมจะเน้นแข่งขันกันแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วนวัตกรรมไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังปรับใช้กับเรื่องการคิดค้นระบบการจัดการข้อมูล หรือระบบการทำงานที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีที่จำลองภาพเสมือน 3 มิติเข้ามาทับซ้อนกับภาพจริงซึ่งใช้กันแพร่หลายในวงการเกมเพื่อทำให้ผู้เล่นรู้สึกสมจริงยิ่งขึ้น ก็สามารถนำมาใช้กับการวิเคราะห์เครื่องจักรในโรงงานได้โดยนำมาปรับให้สามารถเชื่อมต่อภาพเครื่องจักรและแสดงข้อมูลให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบสภาพเครื่องจักรผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือคอมพิวเตอร์ได้แม้ไม่ได้อยู่หน้าเครื่องจักร เป็นต้น หรืออุปกรณ์อย่างโดรนที่คนทั่วไปใช้ในการถ่ายภาพวีดีโอ เมื่อนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยี RFID ก็สามารถประยุกต์ใช้กับการติดตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้รวดเร็ว สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น จะเห็นได้ว่านวัตกรรมดิจิทัลนั้นถูกพัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานนั่นเอง

แนวคิดในการทำงานเรื่องดิจิทัลของเอสซีจีคือ เราต้องอยู่ใกล้เทคโนโลยี เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งภายในและภายนอก และมีความพร้อมในการผสมผสานข้อมูลกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว

“ด้วยความที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีประสบการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการโรงงานปิโตรเคมีมามากกว่า 30 ปี ทำให้เราเห็นความต้องการที่ชัดเจนว่าอะไรจะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ความปลอดภัย ตลอดจนการบำรุงรักษา เราก็นำความต้องการนั้นมาเป็นตัวตั้งต้น เพื่อหาโซลูชันใหม่ ๆ มาพัฒนาหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำได้รวดเร็วขึ้น”

หากเปรียบเทียบเป็นสมการ กำหนดให้ Y คือผลลัพธ์ที่เราต้องการ Y ย่อมประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น X1 + X2 + X3 + X4 ซึ่งก็คือข้อมูลแต่ละตัว เราอาจยังไม่รู้ว่า X แต่ละตัวส่งผลต่อ Y อย่างไร แต่เมื่อนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาจัดกระบวนการทางสถิติโดยใช้ AI คัดเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาหาความเชื่อมโยง คำนวนดูว่าเมื่อเพิ่ม-ลดค่า X ตัวใดแล้วจะเกิดผลกระทบกับ Y อย่างไรบ้าง AI ก็จะสามารถสร้างระบบวิธีการคิด เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เราได้

“เราต้องเริ่มจากแนวคิดว่าทำอย่างไรให้การทำงานเป็น Automation มากขึ้น แล้วนำ Automation กับ Information ไปสู่การสร้าง Algorithm (ระเบียบวิธีคิด) จากเมื่อก่อนที่เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลแล้วนำไปให้ ’คน’ เป็นผู้ตัดสินใจ ดังนั้นหากเปลี่ยนคน ผลการตัดสินใจก็จะเปลี่ยนไปตามความรู้หรือประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งต่างจาก AI ที่จะตัดสินด้วยตรรกะและข้อมูลสนับสนุนมหาศาล เสมือนเป็นการรวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดมารวมกันไว้ในระบบนั่นเอง”

]การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน เมื่อวิเคราะห์เห็นจุดที่ยังขาดประสิทธิภาพก็ต้องเร่งเข้าไปจัดการ

ในช่วงระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนา AI ขึ้นมาแล้วกว่า 60 ตัวสำหรับจัดการงานในโรงงานเป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายถัดไปคือการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในธุรกิจเคมิคอลส์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณมงคลให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงการใช้นวัตกรรมดิจิทัลว่า “ที่ผ่านมาเอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว แต่เราต้องการจะทำให้เหนือความคาดหมายขึ้นไปอีก ต้องการสร้างความน่าตื่นเต้นให้ธุรกิจ สร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่ตอบความต้องการลูกค้าแบบล้ำหน้าไปอีกขั้น”

]“เราต้องมองไปข้างหน้า มองเทรนด์ให้ออก และที่สำคัญต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งในการทำงานอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทันที แต่จุดสำคัญคือต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาด และนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ให้เร็ว โดยผ่านขบวนการทำงานแบบใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วหรือที่เรียกกันว่า Agile process เพื่อให้สุดท้ายเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและดีขึ้นเรื่อย ๆ”

การเริ่มต้นนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใช้กับธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงซื้อโปรแกรมใหม่ ๆ หรือติดตั้งเครื่องมือเก็บข้อมูลให้ทั่วโรงงาน แต่เป็นการเข้าใจความต้องการของธุรกิจอย่างถ่องแท้เพื่อที่จะหาวิธีและเครื่องมือที่เหมาะสม สำหรับสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็นำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นอีก และที่สำคัญก็คือการอยู่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด รีบทำความเข้าใจ เรียนรู้ให้เร็ว นำมาทดลอง ปรับใช้กับข้อมูลที่มีให้เร็ว แม้เกิดความผิดพลาดไม่ได้ผลตามที่คาดหวังก็ต้องเริ่มต้นใหม่ให้เร็วด้วยเช่นกัน (Fail Fast, Learn Fast) ธุรกิจจึงจะวิ่งไปตามจังหวะของความเป็นดิจิทัลและสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ทัน Credit: http://www.allaroundplastics.com/article/interview/2441

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 3.7 / 5. Vote count: 13

No votes so far! Be the first to rate this post.