“เอสซีจี” เร่งพัฒนา “นวัตกรรม” ช่วยชาติฝ่า “วิกฤตโควิด 19”

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศไทย ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องเป็นระลอก3 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมาก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่เป็นด่านหน้าต้องทุ่มเททำงานหนัก ขณะที่ทุกภาคส่วนต่างเร่งระดมความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ความสามารถเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้

ต่อยอดนวัตกรรมที่มีใช้เวลาเป็นเดิมพันทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เอสซีจีเป็นหนึ่งในองค์กรที่นำความเชี่ยวชาญ พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกแรก ที่พัฒนานวัตกรรมที่อาศัยความ “เร็ว” แข่งกับ “เวลา” ทีมงานเอสซีจียังได้ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมแพทย์ เพื่อเข้าใจความต้องการตอบโจทย์การใช้งานได้จริง เน้นการคิดค้น ออกแบบ พัฒนา ผลิตภัณฑ์ โซลูชัน ใช้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพให้ทันต่อความต้องการตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงของการระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยสามารถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อเพิ่มความอุ่นใจให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรับมือวิกฤตโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงยังบรรเทาผลกระทบของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างดีที่สุด

8 นวัตกรรมรับมือโควิดระบาดระลอก 3 พร้อมส่งมอบทั่วประเทศ 

จากการแพร่ระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากห้องไอซียูไม่เพียงพอต้องการ เอสซีจีได้ต่อยอดและพัฒนา “8 นวัตกรรม” โดยส่งมอบให้กว่า 400  โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ  ได้แก่

1.นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) สำหรับผู้ป่วยวิกฤตโควิดโดยต่อยอดร่วมกับคณะแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ก่อสร้างได้รวดเร็วภายใน  1 สัปดาห์ ตามมาตรฐานห้อง ICU มีฟังก์ชันการใช้งานเพื่อพยุงชีพผู้ป่วยขั้นวิกฤต แยกระบบอากาศของทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกันโดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ แยกผู้ป่วยวิกฤตโควิด ออกจากผู้ป่วยปกติ

2. นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย โดยผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ เพื่อรองรับการใช้งานของสรีระของคนเอเชีย น้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ขนส่งและการจัดเก็บ ประกอบง่ายใน 8 นาที โดยไม่ต้องใช้กาว ใช้ได้นาน 3 เดือน หากไม่โดนน้ำ และรับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมในแนวราบ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ 62 องค์กรเปิดโครงการ “รวมใจสู้โควิด” เพื่อเปิดจุดรับกล่องกระดาษที่เหลือใช้นำกลับมารีไซเคิลเป็นเตียงสนามกระดาษ หมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณค่า โดยส่งมอบให้โรงพยาบาลสนาม 27,600 เตียง 340 แห่ง

3. นวัตกรรมห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) เน้นการผลิตแบบเบ็ดเสร็จพร้อมใช้งานด้วยโครงสร้างคอนกรีต ที่สามารถผลิต ขนส่งง่าย และติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว และยังออกแบบให้มีความทนทาน ปลอดภัย      ทำความสะอาดดูแลฆ่าเชื้อได้ง่าย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการแยกการใช้งานออกเป็นห้องเดี่ยว ทำให้แยกการใช้งาน และทำความสะอาดได้อย่างอิสระแยกออกจากกัน

4. ห้องตรวจเชื้อความดันบวก (Positive Pressure SWAB Cabinet) เพื่อใช้ทำการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรคประจำจุด ห้องตรวจได้มาตรฐานปลอดเชื้อ เคลื่อนย้ายโครงสร้างและติดตั้งได้ง่าย  

5. นวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) สำหรับ       ปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือเป็นห้องพักผู้ป่วย  

6. นวัตกรรมแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ(Patient Isolation Capsule) ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  

7. นวัตกรรมแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบสำหรับเข้าเครื่อง CT scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan)

8. นวัตกรรมอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อสำหรับงานทันตกรรม (Dent Guard) 

นอกจากนี้ เอสซีจี ยังร่วมกับกรมการแพทย์ จัดเตรียม ศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชนในพื้นที่เอสซีจีบางซื่อพร้อมพนักงานจิตอาสา บริการฉีดวัคซีนให้ประชาชน วันละ 2,000 คน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดือนมิถุนายนนี้

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ระบุว่า “เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากในการต่อสู้กับโรคระบาด ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้โจทย์ของเอสซีจีปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกขั้นตอนการทำงาน เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองผู้ป่วย การตรวจหาเชื้อ อุปกรณ์การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การจัดเตรียมเตียงสนามกระดาษ จนถึงการพัฒนานวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤตโควิด19 โดยยึดหลักต้องทำได้ “เร็ว” เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างทันท่วงที”

สิ่งที่เอสซีจีมีคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญความพร้อมของเราคือทำได้เร็วการได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญนอกเหนือจากที่เอสซีจีมีทำให้เกิด Open Innovation  ที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่รวดเร็วขึ้นและตอบโจทย์สังคมได้มากยิ่งขึ้นการที่ทีมงานได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิดระลอกแรกประกอบกับประสบการณ์ความเชี่ยวชาญรวมถึงเข้าใจความต้องการและปัญหาที่ลูกค้าต้องการแก้ไขได้อย่างชัดเจนจึงทำให้สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมได้ต่อเนื่องทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง  และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมขององค์กรในอนาคตอีกด้วย” 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ขอเชิญชวนคนไทยร่วมใจกันลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แอปพลิเคชัน หรือ Line@ “หมอพร้อม” หรือลงทะเบียนจองสิทธิ์ได้ที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่ ทั้งของรัฐและเอกชน หรือ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (อสม.) รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชน เพื่อช่วยกันลดการแพร่ระบาด โอกาสในการติดเชื้อ และความรุนแรงของอาการ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เช่น ช่วยกัน Work from Home ให้มากที่สุด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ฯลฯ ก็จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 4.3 / 5. Vote count: 35

No votes so far! Be the first to rate this post.