Environmental

รักษ์ภูผามหานที

เราทุกคนล้วนมีบ้านในรูปแบบของตัวเอง

แต่บ้านหลังใหญ่ที่สุดคือบ้านที่ชื่อว่าโลก’ 

และในวันที่บ้านหลังใหญ่นี้กำลังทรุดโทรม 

เราจะช่วยกันทำอะไรได้บ้าง?

ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ จึงชวนนักกอล์ฟหญิงระดับโลกทั้ง 4 คน ได้แก่ เอรียา จุฑานุกาล (โปรเม) โมรียา จุฑานุกาล (โปรโม) อาฒยา ฐิติกุล (โปรจีน) และ ปาจรีย์ อนันต์นฤการ (โปรเมียว) ที่ต้องห่างบ้านไปแข่งขันเป็นระยะเวลานาน ๆ อยู่ตลอดเวลา มาบอกเล่าความคิดถึง ‘บ้าน’ ในมุมมองของแต่ละคน  ผ่านการพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่โครงการ “รักษ์ภูผามหานที” ของเอสซีจี ซึ่งนอกจาก “บ้าน” ในความหมายของที่อยู่อาศัยหรือครอบครัวแล้ว ยังหมายถึงป่า ภูเขาแม่น้ำ ทะเล ที่รวมกันเป็น ‘โลกของเรา’ พร้อมชวนทุกคนมาร่วมดูแลบ้านหลังนี้ไปด้วยกัน

โครงการ “รักษ์ภูผามหานที”

โครงการ “รักษ์ภูผามหานที” ของ เอสซีจี เกิดจากความตั้งใจที่จะถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกันซึ่งไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งสายธารความสำเร็จจากภูผา…สู่มหานทีอย่างแท้จริง

1. พื้นที่ต้นน้ำ : ฟื้นฟูป่าต้นน้ำคืนสมดุลระบบนิเวศด้วย “ฝายชะลอน้ำ”

เพราะ พื้นที่ต้นน้ำ คือ รากฐานที่สำคัญ เอสซีจี ได้ร่วมกับชุมชน จิตอาสา ภาครัฐ และภาคเอกชน สร้าง ฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ แก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเห็นผลจริง โดยเริ่มต้นจากชุมชนต้นน้ำ จ.ลำปาง ก่อนถ่ายทอดไปสู่ชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบัน โครงการนี้สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 110,00 ฝาย ทำให้ป่าที่เคยแห้งแล้งกลับฟื้นคืนความสมดุล พลิกฟื้นผืนป่าโดยไม่ต้องปลูกใหม่ ไฟป่าที่เคยมีก็ลดลงจนเกือบหมด พันธุ์นกและสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ชุมชนก็มีรายได้จากผลผลิตจากป่ามากขึ้น และสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง

เมื่อมีน้ำ ก็ต่อยอดด้วยการสร้าง สระพวง ระบบการจ่ายน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ด้วยการสร้างสระพวงขนาดใหญ่ หรือสระแม่ ก่อนจัดระบบส่งน้ำไปสู่สระลูก สระหลาน ที่อยู่ใกล้ๆ โดยเชื่อมต่อกันเป็นระบบ ทำให้สามารถกระจายน้ำได้ทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน ชุมชนมีน้ำเพียงพอในการทำเกษตรตลอดทั้งปี ปัจจุบัน สร้างไปแล้ว 23 สระพวง

2. พื้นที่กลางน้ำ :  แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้วย “แก้มลิง” 

ในพื้นที่กลางน้ำ ระบบแก้มลิง เป็นอีกหนึ่งศาสตร์พระราชาที่นำมากักเก็บน้ำ และแบ่งสันปันส่วนให้มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง ด้วยการเชื่อมต่อคูคลองเข้ากับแหล่งน้ำธรรมชาติ เก็บน้ำไว้ในช่วงน้ำหลาก และนำไปใช้ในช่วงน้ำแล้ง ช่วยให้ชุมชนพื้นราบสามารถบริหารจัดการน้ำ ทั้งการกักเก็บน้ำและกระจายน้ำอย่างเป็นระบบ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี 

3. พื้นที่ปลายน้ำ :  คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลด้วย “บ้านปะการัง”

การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ด้วยการปลูก ป่าโกงกาง และ หญ้าทะเล รวมถึง โครงการ “รักษ์ทะเล” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรใต้ท้องทะเลด้วย บ้านปะการัง ที่ผลิตจากปูนคาร์บอนต่ำ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ CPAC 3D Printing ขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบนำร่องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งของประเทศ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ พร้อมนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากพันธมิตร คืนกลับความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ

จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนิน โครงการ “รักษ์ภูผามหานที” มากว่า 10 ปี เอสซีจีเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการน้ำตลอดเส้นทางตามแนวพระราชดำริ สามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร สานต่อจากชุมชนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปยังชุมชนอื่น ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตเพิ่ม มีรายได้สูงขึ้น เกิดความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โครงการ “รักษ์ทะเล”

โครงการ “รักษ์ทะเล” ดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เอสซีจี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ในการนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ เนื่องจากปะการังในท้องทะเลไทยยังคงเผชิญปัญหาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากการทิ้งขยะลงทะเล การลักลอบเก็บปะการังเพื่อการค้า การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ไปจนถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โดยเฉพาะแนวฝั่งอ่าวไทยที่พบปะการังฟอกขาวในระดับรุนแรง ซึ่งวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing นั้นมีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน รวมทั้งทำมาจากปูนที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

เทคโนโลยี 3D Printing ช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแนวปะการังใต้ทะเล

เอสซีจี โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาวัสดุ Advanced Materials ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing สำหรับเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังและการปลูกปะการังธรรมชาติ สร้างต้นแบบปะการังเทียมรุ่นใหม่ที่มีความเสมือนจริง ซึ่งสามารถใช้เศษคอนกรีตรีไซเคิลเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูนถึง 40% โดยความร่วมมือครั้งนี้ ขยายภาพโครงการ “รักษ์ภูผามหานที” คืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทย โดยหลังจากทดลองนำไปวางในพื้นที่จริง และติดตามประเมินผล พบว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการังและเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลได้จริง

เพื่อให้การฟื้นฟูปะการังเป็นรูปธรรม เอสซีจี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมบริจาคเพื่อผลิตวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นอันจะนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรทางท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป โดยผู้ที่สนใจสมารถร่วมบริจาคได้ที่ www.lovethesea.net

จุดเด่นของวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนที่พัฒนาโดยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing

  1. รูปแบบสวยงามเสมือนปะการังจริง กลมกลืนกับธรรมชาติ
  2. มีความซับซ้อนทางโครงสร้างเหมาะให้สิ่งมีชีวิตเข้าไปอยู่อาศัย
  3. ผลิตจากปูนที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในทะเล
  4. แข็งแรง มั่นคง ไม่จมลงในทราย ทนต่อแรงพัดของกระแสน้ำ
  5. ถอดประกอบและขนย้ายได้ง่าย ลดต้นทุนการขนส่งและติดตั้ง

รางวัล

วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังรูปแบบ “นวัตปะการัง” ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์

CPAC 3D PRINTING SOLUTION

นวัตกรรมการออกแบบและการพิมพ์สามมิติสำหรับการก่อสร้างยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับโลก ด้วยการออกแบบที่ช่วยเพิ่มอิสระให้กับรูปแบบ โครงสร้าง และตัวอาคารที่มีความโค้งและพื้นผิวที่มีลวดลายได้หลากหลายตามที่ต้องการ การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถนำมาขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของเอสซีจี ทำให้ก่อสร้างรวดเร็ว ลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้าง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้งานได้ทั้งในกลุ่มงานก่อสร้าง งานตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นงานตกแต่งแลนด์สเคป รวมทั้งปะการังเทียม โดยสามารถพิมพ์ขึ้นรูปทั้งแบบในพื้นที่ก่อสร้าง (on-site) และแบบผลิตจากโรงงาน (off-site) ทั้งยังช่วยให้ก่อสร้างได้เร็วขึ้น 30% ในส่วนของการก่อสร้างผนัง ใช้แรงงานน้อยลง 50% และลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้าง

เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในงานออกแบบพัฒนา “บ้านปะการัง” ที่ดึงความโดดเด่นทางโครงสร้าง ทั้งแสงและช่องว่าง ลักษณะพื้นผิว ให้เหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังจริง ๆ คุณสมบัติของปูนซีเมนต์ที่นำมาใช้มีค่าความเป็นกรดและด่าง ใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล เพื่อช่วยย่นระยะเวลา ให้ตัวอ่อนปะการังลงมาเกาะได้มากขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเคลื่อนย้าย ขนส่ง และการติดตั้งได้ง่าย

logo

“ESG, Start For a Better World.”