SCG: Climate Emergency

จากป่าโกงกาง.. สู่หญ้าทะเล

ปลูกอย่างไรให้ลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 2,025 

‘ป่าโกงกาง’ และ ‘หญ้าทะเล’ เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลก ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ถึงความพิเศษของพืชทะเลทั้งสองชนิดนี้สักเท่าไหร่ อาจเพราะวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใกล้ชิดทะเลเท่าชาวประมงหรือคนท้องถิ่น ที่จะรับรู้ได้ถึงความต่างระหว่าง ‘การมีอยู่’ กับ ‘การสูญสลาย’ ไปของพวกมัน ทั้งที่ล้วนส่งผลกระทบต่อเราทุกคนและสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ทั้งสิ้น นั่นก็คือการนำไปสู่ ‘ปัญหาภาวะโลกร้อน’  

 

บทเรียนจาก ‘ชุมชนบ้านมดตะนอย’ 

ชุมชนบ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ดี ด้วยอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านที่ทำประมงเป็นหลัก ซึ่งต้องเลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำอย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา พวกเขาพบว่าสัตว์น้ำมีจำนวนลดลงอย่างมาก หลังจากหลายสิบปีก่อนที่พื้นที่บริเวณนี้ได้สัมปทานนำไม้โกงกางมาเผาเป็นถ่าน เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ  

สัตว์น้ำลดลง ลมร้อนรุนแรง

เมื่อ ‘ป่าโกงกาง’ หรือ ‘ป่าชายเลน’ ถูกทำลายมากขึ้น สัตว์น้ำก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากป่าโกงกางเป็นทั้งพื้นที่หลบภัยและวางไข่ของบรรดาสัตว์น้ำน้อยใหญ่มากมาย อีกทั้งชาวบ้านยังพบการกัดเซาะของน้ำและลมร้อนที่ปะทะรุนแรงขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2537 ชุมชนจึงได้ทำความตกลงยกเลิกการประกอบอาชีพทำถ่าน แล้วเปลี่ยนมาปลูกไม้โกงกางทดแทน จนทำให้ป่าโกงกางรอบชุมชนบ้านมดตะนอยมีเพิ่มประมาณ 3,000 ไร่ พร้อมตั้งกติกาชุมชน ให้นำไม้โกงกางไปใช้ในครัวเรือนได้ แต่ไม่สามารถนำไปจำหน่าย โดยจัดสรรเป็นพื้นที่อนุรักษ์อยู่ที่ประมาณ 200 ไร่ ด้วยกัน
blank

อย่างไรก็ตามนอกจากป่าโกงกางจะช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นแหล่งดักตะกอนและกรองสิ่งสกปรกที่มาจากบนฝั่งหรือถูกน้ำทะเลพัดพามาอีกด้วย ที่สำคัญคือยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) ที่สูงกว่าระบบนิเวศป่าบก เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง โดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบของเนื้อไม้ และการกักเก็บจากตะกอนดินที่พัดพา จึงช่วยดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น 

นอกจากป่าโกงกางแล้ว อีกหนึ่งพืชทะเลที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากก็คือ ‘หญ้าทะเล’ ซึ่งพบในประเทศไทยอยู่ถึง 12 ชนิด จาก 58 ชนิดที่พบทั่วโลก หญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 40 เท่า (An unexpected weapon in the fight against climate change? Seagrass, World Economic Forum, 2018)โดยเก็บไว้ในรูปแบบของมวลชีวภาพ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และการดักจับจากตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่น ๆ
blank

‘เต่าทะเล’ และ ‘พะยูน’ เสี่ยงสูญพันธุ์

อีกทั้งหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือเป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์ทะเลนานาชนิด ซึ่งรวมไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง ‘เต่าทะเล’ และ ‘พะยูน’ ที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลนี้ด้วย นั่นหมายความว่าหากป่าโกงกางและหญ้าทะเลลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ก็ย่อมเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลอีกมากมาย และยังนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น เพราะขาดฮีโร่ในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง   

ทั้งนี้นอกจากการทำลายป่าโกงกางในอดีตจะส่งผลให้ชุมชนบ้านมดตะนอยต้องประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานขึ้น พื้นที่หญ้าทะเลของชุมชนก็ยังมีปริมาณลดลงอย่างมากอีกด้วย อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดคลื่นมรสุมที่รุนแรง หญ้าทะเลจึงเกิดความเสียหาย อีกทั้งการโผล่พ้นน้ำทะเลนาน ๆ มาเจอกับความร้อนระอุ จึงทำให้หญ้าทะเลแห้งตายในที่สุด   

‘ปลูก’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’

เอสซีจี จึงได้ร่วมมือกับชุมชนและเครือข่ายจิตอาสา ในการเข้ามาศึกษาและต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่าโกงกางและหญ้าทะเลในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย เพื่อช่วยฟื้นฟูและขยายพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าปลูกต้นโกงกาง 14,000 ต้น 20 ไร่ และหญ้าทะเล 15,000 ต้น 10 ไร่ ในปี 2564 ซึ่งการปลูกให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการปลูกหรือเพาะพันธุ์อย่างถูกวิธี
blank

ปลูกอย่างรู้วิธี เพื่อต้นกล้าที่ยั่งยืน

ก่อนปลูกต้นโกงกาง ให้ดูความพร้อมของพื้นที่ที่จะปลูกจากต้นแสม พืชนำร่องที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าพื้นที่ใดสามารถปลูกต้นโกงกางได้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก จะอยู่ที่ประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงปลอดมรสุมในฝั่งอ่าวไทย แต่ในฝั่งอันดามันจะอยู่ที่ประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับต้นโกงกาง ทำให้รากของต้นโกงกางยึดพื้นดินและแข็งแรงพอที่จะต่อสู้ในช่วงมรสุมได้ จึงทำให้ต้องอาศัยเวลาในการปลูกใหม่พร้อมกับปลูกทดแทนส่วนที่เสียหายจากลมมรสุมอยู่เป็นระยะ แบ่งออกเป็น การปลูกด้วยฝัก (เน้นปลูกช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูขยายพันธุ์ด้วยฝัก) และการนำฝักไปเพาะให้เป็นต้นกล้าก่อนนำมาปลูกในดินเลนงอกใหม่ (เพื่อปลูกซ่อมแซม) โดยแต่ละต้นให้ปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร 

ในขณะที่หญ้าทะเล ชุมชนมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนหญ้าทะเล ที่ทำให้ต้องไปขอจากพื้นที่อื่นมาปลูก เอสซีจี และ ชุมชน จึงร่วมกันไปศึกษาดูงานจากแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลที่มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้าน พรุจูด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ดั้งเดิมของชุมชน มาสร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล และการทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ ที่มีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสียหายให้แหล่งหญ้าทะเลที่เกิดจากวิธีการแยกกอในการย้ายปลูก จนได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลให้ชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานได้อย่างต่อเนื่อง
blank

และแม้นักวิจัยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จะออกมาเผยถึงพื้นที่ของหญ้าทะเลทั่วโลกซึ่งครอบคลุมมากกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร แต่ทุก ๆ 30 นาที หญ้าทะเลที่ครอบคลุมเท่าสนามฟุตบอลกลับถูกทำลายโดยกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น  

ซุปเปอร์ฮีโร่จากท้องทะเล 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าป่าโกงกางและหญ้าทะเลถือเป็นซุปเปอร์ฮีโร่จากท้องทะเลเลยก็ว่าได้ ด้วยหน้าที่พิเศษในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) เอาไว้ ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศจนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น 

ดังนั้นนอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว เราจึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ เนื่องจากมีมากเกินไปก็ไม่ดี จะไม่มีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างควรจะอยู่ในโลกอย่างสมดุล เพราะไร้คาร์บอนก็ไร้ชีวิตด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ ‘บลู คาร์บอน’ (Blue Carbon) คือรูปแบบของคาร์บอนที่สิ่งมีชีวิตอย่างป่าโกงกางและหญ้าทะเลช่วยดูดซับเอาไว้ลงในผืนดินใต้ทะเลหรือดินเลนชายฝั่ง (Carbon Sink) โดยพื้นที่เติบโตของพืชในทะเลมีอัตราส่วนกักเก็บคาร์บอนสูงถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์ ของ Carbon Sink ในมหาสมุทร แม้จะครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ก้นทะเลก็ตาม (Nellemann, Christian et al. 2009)ป่าโกงกางและหญ้าทะเลจึงเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ส่งให้มหาสมุทรกลายเป็น Carbon Sink ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย และยังสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย 

‘ปลูก’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’ 

ให้ท้องทะเลกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

Most Popular

You might also like