SCG: Climate Emergency

เปลี่ยน.. เพื่อ ‘ฟุตบอล’ ที่คุณแคร์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 1,318 

ความสุขอย่างหนึ่งของคอบอล คือการได้เข้าไปอยู่ในสนามจริง เพื่อเชียร์ฟุตบอลทีมโปรดพร้อมบรรดาแฟนบอลอีกหลายร้อยชีวิต ทั้งเสียงเชียร์ที่ดังก้องสเตเดียม ธงที่โบกสะบัดไปมา และเสียงฝีเท้าจากนักฟุตบอลที่กำลังโลดแล่นอยู่บนสนาม 

น่าเสียดายที่เสน่ห์ของกีฬายอดนิยมระดับโลกนี้ อาจไม่มีให้สัมผัสอีกต่อไป โดยเฉพาะแฟนฟุตบอลอังกฤษที่อาจต้องน้ำตาตก เพราะภายในปี 2050 หรือเพียงแค่ไม่กี่สิบปีนับจากนี้ สนามฟุตบอลของสโมสรในอังกฤษถึงเกือบหนึ่งในสี่จะถูกน้ำท่วมทุกปี สาเหตุจาก ‘ปัญหาภาวะโลกร้อน’ 

ซึ่งขณะนี้สนามของทีมสโมสรเซาแทมป์ตัน (Southampton), นอริช ซิตี้ (Norwich City), เชลซี (Chelsea) และเวสต์ แฮม ยูไนเต็ด (West Ham United) ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงนี้อยู่
blank

ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลวิจัยจากกลุ่มพันธมิตรเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว (Rapid Transition Alliance) กลุ่มนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวนานาชาติ ที่รายงานเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่กีฬาชนิดอื่นอย่างเทนนิส รักบี้ กรีฑา และกีฬาฤดูหนาว ต่างก็ต้องพบกับอุปสรรคร้ายแรงนี้ด้วย โดยภายในปี 2050 จาก 19 สถานที่ที่เคยใช้จัดแข่งขันกีฬาฤดูหนาว จะเหลืออยู่แค่เพียง 10 แห่งเท่านั้น 

การที่สนามฟุตบอลอังกฤษทั้ง 4 แห่ง เริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยงออกมาบ้างแล้ว เป็นไปได้ว่าเราอาจเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนเร็วขึ้นกว่าที่คิด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO – World Meteorological Organization) คาดว่าภายในปี 2026 นี้เอง โลกจะเข้าสู่ระดับอุณหภูมิที่สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1990) ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจากหลายประเทศจะมีการพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกไม่ให้สูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนความหวังจะริบหรี่ลงเสียแล้ว
blank

นอกจากนี้ผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนก็ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในเยอรมนี (Germany)เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนทำให้น้ำในแม่น้ำอาหร์ (Ahr River) ล้นตลิ่ง พัดพาบ้านเรือนหลายหลังพังทลาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 156 คน ซึ่งเบลเยียม (Belgium), สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland), ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) และเนเธอร์แลนด์ (Netherland) ต่างก็ต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักมากในครั้งนี้ด้วย เรียกได้ว่าหนักที่สุดในรอบ 100 ปี ในยุโรปเลยทีเดียว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าภัยพิบัติในครั้งนี้ก็มาจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC – International Olympic Committee) และสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ก็ได้มีการลงนามข้อตกลงกับสหประชาชาติแล้วว่าภายในปี 2050 จะทำให้การแข่งขันกีฬาเป็น ‘Carbon Neutral’ หรือมีการลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่องค์กรต่าง ๆ ปล่อยออกไป ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในแวดวงกีฬามีการขยับเขยื้อนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนออกมาบ้างแล้ว
blank

ทั้งนี้เราในฐานะของคนรักฟุตบอลก็สามารถช่วยปกป้องโลกกีฬาจากปัญหาภาวะโลกร้อนได้ แค่เพียงลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันให้หันมาใส่ใจต่อโลกใบนี้มากขึ้น เช่น ระหว่างนั่งเชียร์ฟุตบอลอยู่ที่บ้าน อาจจะลองปรับอุณหภูมิแอร์ที่ 26 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกาย แทนการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำจนเกินไป เพราะยิ่งปรับอุณหภูมิแอร์ต่ำลงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นเท่านั้น และการปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกแค่องศาเดียว ก็สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ แถมยังช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
blank

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยการ ‘คัดแยกขยะก่อนทิ้ง’ จากบรรดาอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่ม ที่เราอาจนั่งรับประทานในระหว่างเชียร์ฟุตบอลอยู่ที่บ้าน เพื่อให้ขยะเหล่านี้ได้หมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าต่อไป ช่วยลดการฝังกลบ และยังเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย เช่น การแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ที่ก่อนหน้านี้เอสซีจี ได้ร่วมกับสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด สนับสนุนให้แฟนบอลช่วยกันแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง ได้แก่ ขยะพลาสติก ขยะกระดาษ ขยะอาหารสด และขยะปนเปื้อน เพื่อให้การจัดการขยะง่ายขึ้น รวมไปถึงเพื่อเป็นการผลักดันสนามเอสซีจี สเตเดียม ให้กลายเป็น Circular Economy Stadium’ ที่ส่งต่อวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลแบบรักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน 

เปลี่ยน..เพื่อ ‘ฟุตบอล’ ที่คุณแคร์ 

ตามไปดูข้อมูลสนุก ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่! 

ทำความรู้จัก Forest Green Rovers สโมสรฟุตบอลมังสวิรัติ รักษ์โลก! 

Most Popular

You might also like